scius@nu.ac.th 055-96-3124   Facebook

About SCiUS

ที่มาของโครงการ วมว. ศูนย์ มน.


โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย ดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยนเรศวรพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความพร้อมในการสนับสนุนทั้งทางด้านบุคลากรและห้องปฏิบัติการของคณะวิทยาศาสตร์ ให้แก่นักเรียนโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้แจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการแก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้น จากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 คณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยนเรศวร – โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้าร่วม โครงการ วมว. ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556

มหาวิทยาลัยนเรศวร มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์เป็นพี่เลี้ยง ในการกำกับดูแลห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร และสนับสนุนด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านบุคลากรห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด ฯลฯ จัดหลักสูตรให้มีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ – กายภาพ – ชีวภาพ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีความพร้อมในการเป็นนักวิจัยในอนาคตเพื่อสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ให้แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติ โดยวางรากฐานการเป็นนักวิจัยจากการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ สร้างทักษะการวิจัยจากการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ตลอดการศึกษาและต่อยอดการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัย/คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร สนับสนุนการใช้ห้องปฏิบัติการ หน่วยวิจัยและสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านต่าง ๆ เรียนรู้โดยตรงกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวรและเลือกเรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ของหลักสูตรระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยนเรศวรในโปรแกรมเรียนล่วงหน้า (Advanced Placement Program) รวมทั้งรายวิชาของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่เน้นทักษะการเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในอนาคต

ในปีการศึกษา 2556 – 2560 โครงการ วมว. มน. ได้รับอนุมัติจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดตั้งห้องเรียนโครงการ วมว. 1 ห้องเรียน โดยเน้นความเชี่ยวชาญและความโดดเด่นทางวิชาการของมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับ THAIST จัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับสาขาวิชานวัตกรรมวัสดุ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรและสาขานิติวิทยาศาสตร์ เปิดรับนักเรียนชั้นปีละ 30 คน รวมทั้งสิ้น 90 คน ต่อมาในปีการศึกษา 2561 – 2563 มีการเพิ่มห้องเรียน วมว. จำนวน 1 ห้องเรียน โดยจัดการเรียนการสอนของแต่ละห้องเรียนให้มีความโดดเด่นที่แตกต่างคือ เน้นพัฒนาเกษตรปลอดภัยและการแปรรูปหลากหลาย และนวัตกรรมชีวภาพการแพทย์ จำนวนนักเรียนชั้นปีละ 60 คน รวมทั้งสิ้น 180 คน และต่อมา โครงการ วมว. ระยะที่ 3 ระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2564- 2583) คู่ศูนย์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนาหลักสูตรของทั้ง 2 ห้องเรียน

  • ห้องเรียนที่ 1 นวัตกรรมการผลิตและระบบการจัดการอัจฉริยะ โดยหลักสูตรมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี ด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ และระบบสารสนเทศ เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการการผลิตและการจัดการด้านการเกษตร ด้านนวัตกรรมอาหาร ด้านการขนส่งโลจิสติกส์ และด้านพลังงานไฟฟ้า
  • ห้องเรียนที่ 2 นวัตกรรมชีวภาพการแพทย์ มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบสารสนเทศ พัฒนาปรับปรุงกระบวนการการผลิตยาและเครื่องสำอาง วัสดุและเครื่องมือทางการแพทย์และการวินิจฉัย ระบบสารสนเทศทางสาธารณสุข